ใครที่ต้องเดินทางโดยใช้ ถ. ราชวิถี ผ่านโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เคยสังเกตกันบ้างหรือไม่ว่า ภายในโรงพยาบาลแห่งนี้มีตึกที่มีสถาปัตยกรรมงดงามอยู่ ตึกที่ว่านี้คือบริเวณของ
"พระราชวังพญาไท"
"พระราชวังพญาไท"
เดิมจะมี
"พระตำหนักพญาไท"
ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เดิมที่แห่งนี้เคยใช้เป็นทุ่งนาทดลองปลูกธัญพืชและประกอบพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2453 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ได้เสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักพญาไทเป็นเวลาประมาณ 10 ปี เมื่อเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักที่ประทับและอาคารบริวาร คงไว้แต่ท้องพระโรงองค์เดียวคือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชมณเฑียรประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ มีพระที่นั่งพิมานจักรีเป็นองค์ประธาน และพระที่นั่งรองอีก 3 องค์ ได้แก่ ไวกูณฐเทพยสถาน ศรีสุทธนิวาส และอุดมวนาภรณ์ และยกฐานะขึ้นเป็นพระราชวัง เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี
ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวังแห่งนี้ได้ดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งโดยใช้ชื่อว่า "โฮเต็ลพญาไท" แต่ดำเนินกิจการไปได้ไม่เท่าไร ก็ขาดทุน จึงได้เลิกไป
และในสมัยของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ใช้วังนี้เป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง โดยได้อัญเชิญกระแสพระราชดำรัสตอบเนื่องในการพระราชพิธีฉัตรมงคล จากพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 เมื่อสถานีแห่งนี้ได้ย้ายไปรวมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงศาลาแดง ทางราชการจึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ และในปีพ.ศ. 2489 ได้แปรสภาพกองเสนารักษ์เป็นโรงพยาบาล และได้อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสถาปนาเป็นชื่อโรงพยาบาล
ปัจจุบันโรงพยาบาลพระมุงกุฎเกล้า ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังพญาไท ซึ่งพระราชวังแห่งนี้ เปิดให้ประชาชนชาวไทยเข้าชมในวันเสาร์ เวลา 09.30 น. และ 13.00 น. โดยมีวิทยากรพาท่านนำชมประวัติและสถาปัตยกรรม
ภายในวังพญาไท มีสิ่งน่าสนใจมากมาย เช่น
@ พระที่นั่งพิมานจักรี
เป็นอาคารก่ออิฐ ฉาบปูน สูง 2 ชั้น ชั้นล่างมีห้องธารกำนัล ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นห้องลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และมีห้องทรงพระอักษร ซึ่งเหลือเพียงตู้ใส่หนังสือ และหนังสือในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวบ้างเล็กน้อย
ที่ชั้น 2 มี
"ห้องท้องพระโรงกลาง"
เป็นห้องส่วนพระองค์ ภายในตกแต่งแบบยุโรป มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 6 ประดับอยู่เป็นปรางของห้อง และที่ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ มีเตาผิง ซึ่งพระองค์เป็นผู้ทรงออกแบบ โดยทรงนำแบบมาจากยุโรป เพื่อความสวยงาม
ห้องต่อมาเป็น
"ห้องพระบรรทมพร้อมห้องสรง"
ภายในตกแต่งเพดานด้วยจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง เป็นภาพคัมภีร์ในศาสนาพุทธเขียนบนใบลาน และภาพพญามังกร ซึ่งหมายถึงสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชาและปีพระราชสมภพ ปัจจุบันห้องนี้ใช้เป็นห้องประชุม
อีกห้องที่น่าสนใจของชั้นนี้คือ ห้องประทับของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ภายในมีจิตรกรรมสีปูนแห้งบนฝ้าเพดาน เป็นลายดอกไม้ ส่วนที่บัวฝ้าเพดานเป็นลายหางนกยูง เนื่องจากนกยูงเป็นสัญลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี
พระที่นั่งองค์ต่อมาคือ
"พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน"
มีลักษณะศิลปะแบบโรมาเนสก์ ที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง เมื่อปี พ.ศ. 2473 สิ่งน่าสนใจของพระที่นั่งองค์นี้อยู่ที่
"ห้องพระบรรทม"
ภายในมีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยเทคนิคสีปูนแห้ง (Fresco Secco) บนฝ้าเพดาน เป็นรูปเทพน้อย 4 องค์ พร้อมเครื่องดนตรีลอยอยู่ในท้องฟ้าเป็นวงกลม วาดด้วยฝีมือที่งดงามมาก
พระที่นั่งอีกองค์ที่น่าสนใจคือ
"พระที่นั่งเทวราชสภารมย์"
ซึ่งเป็นท้องพระโรงเดิมในสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน ลักษณะท้องพระโรงได้รับอิทธิพลจากศิลปะไบเซนไทน์ คือ มีโดมอยู่ตรงกลางรองรับด้วยหลังคาโค้งประทุนทั้ง 4 ด้าน บนผนังมีจิตรกรรมรูปคนและลายพรรณพฤกษา และมีอักษร
สผ
ซึ่งเป็นพระนามย่อของสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี (สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ) เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีที่สำคัญๆ เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา บางครั้งก็ใช้เป็นโรงละครหรือโรงภาพยนตร์
นอกจากที่นี่จะมีพระที่นั่งที่งดงามหลายองค์แล้ว ก็ยังมี
"สวนโรมัน"
ซึ่งเป็นที่พักผ่อนอิริยาบถของรัชกาลที่ 6 โดยจัดแต่งสวนเป็นแบบเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาในสวนที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน คือ มีศาลาทรงกลมตรงกลาง มีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเธียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่ง ไม่มีหลังคา บริเวณบันไดทางขึ้น ประดับด้วยตุ๊กตาหินอ่อนแบบโรมัน ที่ด้านหน้าของทางขึ้นนี้ จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ ตรงกลางมีรูปพระพิรุณอยู่บนฐานซึ่งมีรูปมังกร อันเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์ท่านนั่นเอง
ข้อมูลทั่วไป
- เปิดให้เข้าชมเฉพาะวันเสาร์ 2 รอบ เวลา 09.30 น. และ13.30 น.
- โทร. 0-2354-7660 ต่อ 93646, 0-2354-7732 ในวัน เวลาราชการ
- วันเสาร์ โทร. 0-2354-7660 ต่อ 93648
การเดินทาง
- รถประจำทาง สาย 8, 12, ปอ. 509 และ 536
- รถไฟฟ้า ลงสถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
© Copyright The Association of Military Surgeons of Thailand. All Rights Reserved.2004.