main
พระราชดำรัสต่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด พระราชดำรัสต่อผู้พิพากษาประจำศาลยุติธรรม เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2549
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แทนพระบรมวงศานุวงศ์

เมื่อ 25 เมษายน 2549

เมื่อเวลา 17.42 น. วันที่ 25 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุดและผู้พิพากษาประจำศาลเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน ประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่

จากนั้นพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ ประธานศาลฎีกา นำผู้พิพากษาประจำศาล สำนักงานศาลยุติธรรม เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ทั้งนี้ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่แก่คณะบุคคลทั้งสองคณะ ทั้งนี้พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับมาตรา 7 ด้วย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

 

ในเวลานี้เราให้พูดเรื่องการเลือกตั้ง ศาลเองมีสิทธิที่จะพูดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเลือกตั้งของผู้ที่ได้คะแนนไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เขาเลือกตั้งคนเดียว ซึ่งมีความสำคัญ คือว่าถ้าไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในที่สุดการเลือกตั้งไม่ครบจำนวน ไม่ทราบว่ากับพวกท่านหรือเปล่า แต่ความจริงน่าจะเกี่ยวข้องเหมือนกัน เพราะว่าถ้าไม่มีจำนวนผู้ที่ได้รับเลือกตั้งพอ ก็กลายเป็นการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่ดำเนินการไม่ได้ แล้วถ้าดำเนินการไม่ได้ ที่ท่านได้ปฏิญาณไว้เมื่อกี้นี้ก็เป็นหมัน ที่บอกว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อให้การปกครองแบบประชาธิปไตยต้องดำเนินการไปได้ ท่านก็เลยทำงานไม่ได้ ถ้าท่านทำงานไม่ได้ ท่านก็อาจจะต้องลาออก ไม่มีทางแก้ ต้องหาทางแก้ไขให้ได้

เขาก็จะบอกว่าต้องไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าไม่ใช่เรื่อง ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จแล้วก็ไม่เกี่ยวข้อง ก็เลยขอร้องท่านอย่าทอดทิ้งการปกครองแบบประชาธิปไตย การปกครองแบบที่จะทำให้บ้านเมืองดำเนินการไปได้

อีกข้อหนึ่งคือการที่จะบอกว่า จะมีการยุบสภาและต้องเลือกตั้งภายใน 30 วัน ถูกต้องหรือไม่ ไม่พูดถึง ไม่พูดกันเลย ถ้าไม่ถูกต้องก็จะต้องแก้ไข แล้วก็อาจจะให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งท่านจะมีสิทธิที่จะบอกว่า อะไรที่ควรหรือไม่ควร ที่ไม่ควรไม่ได้บอกว่ารัฐบาลไม่ดี แต่ว่าเท่าที่ฟังดูมันเป็นไปไม่ได้ในการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย เลือกตั้งขึ้นพรรคเดียว เบอร์เดียว ไม่ใช่ทั่วไป อย่างมีคนที่สมัครเลือกตั้งคนเดียว มันเป็นไปไม่ได้ มันไม่ใช่เรื่องของประชาธิปไตย

เมื่อไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็ควรคิดว่า ต้องดูว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับเรื่องเกี่ยวกับการปกครองให้ดี ขอฝากอย่างดีที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้ ท่านลาออก ท่านเอง ไม่ใช่รัฐบาลลาออก ท่านเองต้องลาออก ทำไม่ได้ รับหน้าที่ไม่ได้ เมื่อสักครู่ที่ปฏิญาณ ไปดูดีๆ จะเป็นการไม่ได้ทำตามที่ปฏิญาณ

ฟังวิทยุเมื่อเช้านี้ กรณีเกิดที่กิ่ง อ.นบพิตำ ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ไม่ใช่แห่งเดียว ที่อื่นมีหลายแห่งที่จะทำให้บ้านเมืองล่มจม บ้านเมืองไม่สามารถที่จะรอดพ้นจากสถานการณ์ที่ไม่ถูกหลัก

ฉะนั้นก็ขอให้ท่านไปศึกษาว่าเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ถ้าท่านไม่เกี่ยวข้อง ท่านลาออกดีกว่า ท่านเป็นผู้ที่ได้รับหน้าที่ ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ เป็นผู้ที่ต้องทำให้บ้านเมืองดำเนินได้ ถ้าไม่เช่นนั้นต้องไปปรึกษากับผู้พิพากษาที่จะเข้ามา คือผู้พิพากษาศาลฎีกา ท่านก็เกี่ยวข้องเหมือนกัน ก็ปรึกษากันทั้ง 4 คน ปรึกษากับผู้พิพากษาศาลฎีกาที่จะเข้ามาใหม่ ปรึกษากับท่านก็เป็นจำนวนหลายคนที่มีความรู้ ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต ที่มีความรักในหน้าที่ ที่จะทำให้บ้านเมืองมีขื่อมีแป

ขอฝากไว้ เราจะขอบใจมาก เดี๋ยวมันยุ่ง เพราะไม่มีสภาผู้แทนฯ ก็ไม่สามารถมีการปกครองแบบประชาธิปไตยได้ ของเรามีศาลหลายชนิดมากมาย เรามีสภาหลายแบบ และทุกแบบต้องเข้ากัน ปรองดองกัน และคิดหาทางที่จะแก้ไขได้ ที่พูดอย่างนี้ค่อนข้างจะประหลาดหน่อย ที่ต้องขอร้องแบบนี้ ไม่งั้นเดี๋ยวก็มาบอกว่ามาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งขอยืนยันว่ามาตรา 7 ไม่ได้หมายถึงมอบให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจที่จะทำอะไรตามชอบใจ มาตรา 7 พูดถึงการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไม่ได้บอกให้พระมหากษัตริย์ตัดสินใจทำได้ทุกอย่าง ถ้าทำไป เขาจะว่าพระมหากษัตริย์ทำเกินหน้าที่ได้ ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยทำเกินหน้าที่ ถ้าทำเกินหน้าที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย

เขาอ้างถึงครั้งก่อนนี้ว่า รัฐบาลอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ตอนนั้นไม่ได้ทำเกินอำนาจพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นไม่มีสภา สภาไม่อยู่ ประธานสภาไม่อยู่ รองประธานสภาทำหน้าที่ เขามีนายกรัฐมนตรีที่สนองพระบรมราชโองการได้ตามรัฐธรรมนูญในครั้งนั้น ตอนนั้นไม่ใช่นายกฯพระราชทาน ไม่ได้ผิดรัฐธรรมนูญ

นายกฯพระราชทานหมายถึงตั้งนายกฯโดยไม่มีกฎเกณฑ์ เมื่อครั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ที่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คือรองประธานสภานิติบัญญัติ ฉะนั้นไปทบทวนประวัติศาสตร์หน่อย ท่านก็เป็นผู้ใหญ่ และท่านก็ทราบว่ามีกฎเกณฑ์ที่รองรับอย่างไร ตอนนั้นสภาอื่นๆ แม้ที่เรียกว่าสภาสนามม้า เขาก็หัวเราะกัน สภาสนามม้า แต่ไม่ผิดกฎหมาย เพราะว่านายสัญญา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็สบายใจว่าทำอะไรแบบถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ แต่ครั้งนี้เขาจะทำอะไรผิดรัฐธรรมนูญ ใครเป็นคนบอกก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าเองก็รู้สึกว่าผิด ก็ขอให้ช่วยปฏิบัติอะไร คิดอะไร ที่ไม่ให้ผิดกฎเกณฑ์รัฐธรรมนูญ จะทำให้บ้านเมืองพ้นอุปสรรคและมีความเจริญรุ่งเรืองได้



ี้