ถึงเวลาสร้างเครือข่าย รพ.ไทย
โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ |
4 มีนาคม 2554 17:08 น. |
เม็ดเงิน 6 หมื่นล้านบาท จาก ?เมดิคัลฮับ? เมืองไทยกำลังเผชิญกับความท้าทาย เช่นเดียวกับธุรกิจ Health Care ที่ถูกตั้งคำถามว่า จะเติบโต หรือหดตัวลงจากผลพวงของการเปิดตลาดอาเซียน ปัญหาคือ เราจะมอง ?AEC? เป็นโอกาส หรือวิกฤต ธุรกิจโรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ประเทศสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economic Community: AEC) ให้ความสำคัญ โดยจัดเป็น 1 ใน 4 สาขาธุรกิจบริการที่เร่งรัดการรวมกลุ่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไทยมีความได้เปรียบทั้งในเรื่องของชื่อเสียงในระดับสากลและความสามารถในการทำกำไร ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ การเปิดตลาดเสรีการค้าบริการ ที่จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2558 นั้น จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงพยาบาลในเมืองไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติในอาเซียนเข้ามาถือหุ้นได้มากขึ้นจากเพดานเดิม จากความกังวลถึงผลกระทบดังกล่าว จึงทำให้ ?สมาคมแพทย์ทหารแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมถ์? จัดการอภิปราย ?ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางการแพทย์รองรับประชาคมอาเซียน? โดยมีวิทยากรที่เชี่ยวชาญได้แก่ นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี, นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ, นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ/นายกสมาคมแพทย์ทหาร ทั้งหมดนี้ก็เพื่อมาอภิปรายแลกเปลี่ยนมุมมองและพิจารณาถึงประเด็นสำคัญในการรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ในการให้บริการทางด้านการแพทย์ของประเทศไทย และร่วมกันกำหนดกรอบยุทธศาสตร์ในการแข่งขันในตลาดเสรีต่อไป Health Care ธุรกิจดาวรุ่งของโลก โดยเริ่มจาก นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลธนบุรี ระบุว่า ปัจจุบันมูลค่าธุรกิจ Health Care ทั่วโลก ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาล, ยา, เครื่องมือแพทย์ คิดเป็นเงิน 17 ล้านล้านดอลลาร์ เฉพาะสหรัฐฯ ประเทศเดียวธุรกิจนี้มีขนาดใหญ่คิดเป็น 16% ของจีดีพีประเทศ ดังนั้นจึงถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งในปัจจุบันซึ่งมีการตั้งกองทุนมากมายในโลกนี้มาลงทุนในกิจการ Health Care เมื่อผนวกกับการเปิดเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 จะก่อให้เกิดผลกระทบกับธุรกิจ Health Care ในเมืองไทยอย่างมหาศาล เพราะปัจจุบันประเทศไทยเปิด Import -Export เท่ากับ 70% ของจีดีพีประเทศ ปัญหาคือ ธุรกิจ Health Care ของไทยที่กำลังควบรวมกัน เพื่อรับมือกับการเปิดเสรี จะพร้อมแค่ไหนที่จะต่อกรกับกองทุนต่างชาติที่เรียกกันว่า ?โซเรนเวฟ ฟันด์? ที่มีอยู่กว่า 10 กองทุน ซึ่งแต่ละกองทุนมีเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ ที่จะไหลบ่าเข้ามาลงทุนซื้อหุ้น รวมไปถึงเทกโอเวอร์ |
?ถ้ากองทุนเหล่านี้เข้ามา จะทำให้คุณภาพของการรักษาพยาบาล ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับคนไข้ ตลอดจนสวัสดิการพนักงานจะถดถอยลงไป เพราะเมื่อเขาลงทุนมหาศาลก็จะต้องคิดถึงกำไรขาดทุน แต่ปัญหาคือเมืองไทยจะแข่งกับเขาได้ไหม? ประธานกรรมการกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ตั้งคำถาม อย่างไรก็ตาม นพ.บุญ เชื่อว่าประเทศไทยยังมีความสามารถที่จะแข่งขันกับต่างชาติในการเปิดเสรีอาเซียนได้ โดยเฉพาะการพัฒนาไปสู่การเป็น ?เมดิคัลฮับ? ของภูมิภาค เพราะมีความสามารถในการแข่งขันสูง ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพในการรักษาบริการของประเทศไทยได้มาตรฐานทั้งคุณภาพการรักษาและบุคลากร แต่สำคัญที่สุดคือราคารักษาในประเทศไทยถูกกว่าสิงคโปร์กว่า 2 เท่า และถูกกว่าฮ่องกงถึง 4 เท่าตัว นอกจากนี้ไทยยังมีความพร้อมในการเป็น World Class Tourist Zium ของประเทศ ที่ทั่วโลกยอมรับ ซึ่งมีความพร้อมทั้งแหล่งท่องเที่ยว การต้อนรับ รวมไปถึงที่พัก ดังนั้น ในปีที่ผ่านมาจึงมีชาวต่างประเทศจำนวน 1.6 ล้านคน ซึ่งเข้ามาใช้บริการเมดิคัลของไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่สิงคโปร์มีแค่ 7 แสนกว่าคน โดยสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 6 หมื่นล้านบาท กระนั้น นพ.บุญก็ยังกังวลเรื่องบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาลที่ชำนาญภาษาอังกฤษ ยังขาดแคลนอยู่มาก เขาเปิดเผยว่า เวลานี้คุณภาพของโรงเรียนแพทย์ไทยอย่าง ศิริราช, รามา เป็นอันดับที่ 36 ของเอเชีย ส่วนที่ 1 และ 2 อยู่ที่ฮ่องกง ที่ 3 อยู่ที่สิงคโปร์ ?ขณะนี้ผมกำลังร่วมมือกับโรงพยาบาลตำรวจสร้างโรงเรียนแพทย์สองภาษาขึ้นมา เพื่อผลิตแพทย์ที่เก่งภาษาอังกฤษ ที่สำคัญโรงเรียนแพทย์ที่เราจะทำต้องทำในระดับอินเตอร์ จะได้ไม่ต้องไปแย่งโรงเรียนแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข? เผยค่าจ้างหมอจีนถูกกว่า 30% อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีอาเซียนนั้น ไม่เพียงจะทำให้ทุนไหลเข้ามาเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ทุนไทยไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งประธานกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี ชี้ว่า ตลาดประเทศจีนน่าสนใจมากที่สุด แม้ว่าขนาดธุรกิจ Health Care ในจีนจะมี 1% ของจีดีพีประเทศ แต่เนื่องจากตลาดแมสของประเทศนี้มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่น่าจับตามองเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นพ.บุญ ไปลงทุนทำธุรกิจโรงพยาบาลที่ปักกิ่ง 3 แห่ง ด้วยการเข้าไปจับมือกับกลุ่ม Wjing ซึ่งเป็นโรงพยาบาลของทหารมีทั้งหมด 1,700 เตียง โดยแบ่งให้กลุ่มนพ.บุญ 100 เตียง เพื่อทำอินเตอร์เนชั่นแนลวอร์ด ?ที่ผ่านมากลุ่มลีกาชิง และหวังหลงชิ่ง กลุ่มทุนจากไต้หวัน ใช้เงินหมื่นกว่าล้านดอลลาร์ก็เข้าไปเหมือนกันแต่ก็ขาดทุนเพราะโดนหลอก ส่วนของผมเข้าไปลงทุนนิดเดียว แทนที่จะ 4,000 ล้าน ผมลงทุนไม่ถึง 100 ล้าน โดยร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐ ในลักษณะการช่วยเทรนนิ่ง? ประธานกลุ่มโรงพยาบาล บอกว่า ทักษะแพทย์ในประเทศจีนดีมาก โดยเฉพาะการผ่าไตเปลี่ยนตับ ถือเป็นอันดับหนึ่งของโลก เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ก็ทันสมัยและมีความพร้อมสูง ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่จะเทรนนิ่งบุคลากรทางการแพทย์จากจีนเพื่อส่งไปประจำที่ต่างประเทศ เพราะต้นทุนค่าจ้างถูกกว่า 30% ?ผมเคยหารือกับกองทุนอาหรับให้ตั้งกองทุนไปซื้อโรงพยาบาลในอเมริกา 100 กว่าแห่ง แล้วเอาบุคลากรทางการแพทย์จากจีนไปพยาบาล ไปบริหาร ถ้าใช้โมเดลในลักษณะนี้ผมมั่นใจว่า ภายในอนาคตอีก 5 ปี เราจะสามารถบริหารโรงพยาบาลทั่วโลกได้ ขณะนี้เริ่มทดลองทำแล้ว ในการเทรนคนร่วมกับมหาวิทยาลัยไหหลำ ซึ่งตามแผนที่วางไว้ภายในอีก 1 ปีจะเปิดโรงพยาบาลที่จีนอีก 2 แห่งต่อไป? เผย รพ.รัฐขาดทุน 600 แห่ง นพ.บุญ กล่าวเตือนว่า ตลาดในประเทศก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพราะในปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ก็ยังเป็นคนในประเทศอยู่ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลในเครือกรุงเทพ ปัจจุบันจะเป็นต่างชาติ 30% แม้แต่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ลูกค้าต่างชาติก็ยังแค่ 40% ปัจจุบันโรงพยาบาลของรัฐงบลงทุนไม่มีเลย และยังประสบปัญหาการขาดทุน 600 แห่งใน 800 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งปัญหามาจากการทับซ้อนของบัตรทองกับประกันสังคม โดยเฉพาะเมื่อครั้งตั้งโครงการ 30 บาทใหม่ๆ ส่งผลให้ไปเพิ่มดีมานด์ความต้องการให้สูงขึ้น จากเดิมที่ประชาชนไปโรงพยาบาลปีละสองครั้ง ก็เพิ่มเป็นไปปีละ 8 ครั้ง เพราะไม่เสียเงิน ทำให้คนมากันมากขึ้น หมอเคยตรวจ 30 คน กลายเป็นตรวจ 150 คน ใช้เวลาไม่ถึง 1 นาทีในการตรวจคนไข้ ที่สำคัญที่สุดคือคนรวยฟรี เพราะพวกเขารู้จักผู้อำนวยการ มีเส้นใหญ่ ยาฟรี เสียค่าห้องเพิ่มนิดหน่อย ดังนั้นจะมีปัญหาเรื่องคุณภาพของการรักษาแน่นอน |
?ขณะนี้ทางกลุ่มได้ร่วมกับโรงพยาบาลตำรวจหลายอย่างทั้งเอกซเรย์ บุคลากร และอื่นๆ เพราะผมรู้ว่างบจากรัฐบาลมีน้อย เป็น Win Win ที่จะให้เอกชนเข้ามาร่วม? หนุน รพ.เอกชนโกอินเตอร์ ส่วน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงการเตรียมการของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับการเปิดตลาดเสรี ว่า มีหลายประเด็นที่กำลังทำอยู่ อาทิ การแก้ปัญหาการขาดทุนโรงพยาบาลในสังกัด 500 แห่ง ใน 800 กว่าแห่ง แต่เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นบริษัทของรัฐ ดังนั้น บริษัทยาก็ยังขายยาให้กับโรงพยาบาลต่อไป นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังให้การสนับสนุนโรงพยาบาลภาคเอกชน นั่นคือ มาตรฐานและการรับรองคุณภาพทั้งหลาย โดยเฉพาะเรื่อง ISO เนื่องจากเรื่องนี้มีความสำคัญ เพราะการเปิดการค้าเสรีนอกจากจะต้องต่อสู้กับธุรกิจต่างประเทศที่เข้ามาแล้ว เรายังต้องออกไปทำธุรกิจต่างประเทศด้วย ดังนั้น ทางภาคเอกชนได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างก้าวหน้า โดยภาครัฐจะช่วยในเรื่องของการสนับสนุนมาตรฐานและการรับรอง ส่วนเรื่องที่สองซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ และมีการโต้แย้งมาตลอดคือ บุคลากร โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะปีหนึ่งโรงเรียนแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขสามารถผลิตแพทย์ใหม่ปีหนึ่งประมาณ 2,000 คน และอีก 2-3 ปีจะผลิตได้ 2,500 คน โดย 2,000 คนจะมาอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าอีกไม่เกิน 5-10 ปี น่าจะลดการขาดแคลนแพทย์ลงไปได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขพยายามจะกระจายแพทย์โดยการเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ให้อยู่ในโรงพยาบาลชุมชน แม้ว่าเทียบกับภาคเอกชนแล้วจะไม่สูงเท่า แต่กับหน่วยงานรัฐด้วยกันแล้วถือว่าสูงกว่ามาก นอกจากนี้ เราจะต้องมีการพัฒนาระบบบริการของเราให้มีมาตรฐานการรักษาในแต่ละแห่ง เช่น โรงพยาบาลสูติควรรักษาอะไรได้บ้าง โรงพยาบาลทั่วไปควรรักษาอะไรได้บ้าง โรงพยาบาลชุมชนขนาด 60-120 เตียง ควรรักษาอะไรได้บ้าง ถ้าไม่กำหนดอย่างนี้ทำให้เกิดปัญหาคนไข้ไปล้นอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ สำหรับส่วนที่ต้องพัฒนาต่อคือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล จะต้องมีการพัฒนาพยาบาลวิชาชีพ หรือพยาบาลเวชปฏิบัติ ในสถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลชุมชน เพื่อลดปัญหาคนไข้ทะลักเข้าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ส่วนที่สาม เป็นแนวคิดโดยส่วนตัวก่อนจะเอาเข้าที่ประชุมกระทรวงฯ คือ อยากให้มีโครงสร้างกระทรวงเป็นหน่วยประสานงาน (ดูในชาร์ต) จะต้องมีจุดประสานงานเชื่อมต่อ โดยส่วนตัวมองว่าในฐานะกระทรวงสาธารณสุข คงไม่มีใครรังเกียจให้เราเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงาน และอาจจะต้องหารือกันในประเด็นนี้เป็นระยะๆ แม้แต่ในเรื่องความมั่นคง หมอเสริฐชี้ เร่งผลิตแพทย์เฉพาะทาง ด้าน นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ ชี้ว่า ปัจจุบันเมืองไทยมีสถาบันการแพทย์ 19 แห่ง เป็นของเอกชน 1 แห่ง ผลิตแพทย์ปีหนึ่ง 2,000 คน มีการเอาไปใช้ 1,200 คน แต่อีก 800 คนพยายามต่อยอดการศึกษาเพิ่มเติมเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายว่าหากทุกฝ่ายมาช่วยกันให้ความรู้เฉพาะด้านเพิ่มเติมให้แก่แพทย์เหล่านี้ จะเป็นบุคลากรที่มีความสามารถมากสำหรับประเทศไทย ประธานกรรมการบริหารเครือ รพ.กรุงเทพ ย้ำว่า เฉพาะอาเซียนใน 4 ปีข้างหน้าจะมีคน 600 ล้านคน แต่จะมีคนที่เป็นเศรษฐีประมาณ 1% หรือ 6 ล้านคน น่าสนใจว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไปที่ไหน และจะทำอย่างไรกับพวกเขา ที่สำคัญคือประเทศไทยจะเสริมสร้างบุคลากรไปรองรับความต้องการเหล่านี้ได้อย่างไร นพ.ปราเสริฐ ระบุว่า ธุรกิจ Health Care ในสิงคโปร์และออสเตรเลีย รัฐและเอกชนเดินคู่กัน แต่ในประเทศไทย รัฐไปทาง เอกชนไปทาง ทำอย่างไรจะหาทางให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นเครื่องมือแพงๆ ก็สามารถใช้ร่วมกันได้ ไม่ต้องแข่งกันซื้อ เพราะเครื่องมือเหล่านี้เทคโนโลยี 3 ปีก็ไม่อัปเดตแล้ว ต้องซื้อใหม่ รวมไปถึงการแชร์บุคลากรที่มีคุณภาพ ทั้งแพทย์และพยาบาลทำอย่างไรจะสามารถแชร์คนเก่งได้ ไม่จำเป็นต้องให้พวกเขาอยู่ที่เดียว ที่สำคัญต้องดูว่าคู่แข่งของประเทศไทยเป็นใคร ?บอสตัน คอนเซ้าท์ติ้ง กรุ๊ป ระบุว่า เมื่อเทียบกับสิงคโปร์แล้ว แม้คุณภาพการรักษาของเขาจะดีกว่า แต่ราคาของเราถูกกว่า การบริการของเราดีกว่ามาก ส่วนอินเดียแม้ค่ารักษาจะถูกกว่ามาก แต่ในด้านของบริการแล้วยังสู้เมืองไทยไม่ได้? รพ.ตำรวจชี้ ต้องเร่งสร้างเครือข่าย สำหรับ พล.ต.ท.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ/นายกสมาคมแพทย์ทหาร อภิปรายว่า วันนี้การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลง นั่นคือ ต้องร่วมมือกัน ต้องสร้างเครือข่ายให้เป็น เราจะยืนอยู่คนเดียวในโลกนี้ไม่ได้ ต้องมีเพื่อน หรือเครือข่ายต้องมีให้มาก พล.ต.ท.จงเจตน์ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาโรงพยาบาลตำรวจ ทหาร แม้จะมีมากมาย แต่ไม่เคยคิดจะสร้างเครือข่าย กระทั่งเลขาธิการสมาคมแพทย์ทหารคนปัจจุบัน ต้องการสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลระหว่าง 4 เหล่าทัพ เพราะมีประโยชน์มหาศาล ในด้านการพัฒนาความรู้ วิชาการ การวิจัย บุคลากร การให้บริการ โดยการเอาจุดแข็งของแต่ละแห่งมาร่วมกันสร้าง ดังนั้น เซอร์วิสในอนาคตอาจจะสู้กับโรงเรียนแพทย์ได้ ?สำคัญที่สุดคือ เรื่องต้นทุนต้องลดให้ได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขที่ขาดทุนอยู่ในปัจจุบัน ถ้ามีการสร้างเครือข่ายทั้งประเทศ สั่งยา การใช้เครื่องมือ จัดโซนนิ่งให้ดี วางมาสเตอร์แพลน ต้นทุนจะลดลงเยอะ อาจจะลดการขาดทุนลงได้? นายกสมาคมแพทย์ทหาร ยกตัวอย่างว่า จากการศึกษาพบว่า แค่จัดซื้อยาร่วมกันจากโรงพยาบาล 4 เหล่าทัพ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลพระมงกุฎ, ตำรวจ, ภูมิพล, ปิ่นเกล้า เอามาแค่ 10 ตัว ที่คิดว่าใช้ประมาณ 10% ของการใช้ยา พบว่าสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงไปได้ 10 กว่าล้านบาท ดังนั้น ถ้าจัดซื้อร่วมกันทั้งหมดอาจจะประหยัดได้อีกนับ 100 ล้านบาท นี่ยังไม่รวมเครื่องมือแพทย์อื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันได้ เงินนี้เอามาพัฒนาอย่างอื่นได้อีกมากมายมหาศาล โดยสมาคมแพทย์ทหารจะอาสาขับเคลื่อนความคิดนี้ไปสู่แนวทางปฏิบัติให้ได้ ความคืบหน้าของการเปิดเสรีการค้า ภายใต้ AFAS @ มีการลงนามในข้อผูกพันการค้าบริการภายใต้กรอบ AFAS ไปแล้ว 7 ชุด @ อยู่ระหว่างการจัดทำตารางข้อผูกพันชุดที่ 8 @ เป้าหมายการเปิดตลาดสำหรับข้อผูกพัน ชุดที่ 8 ของอาเซียน @ Mode 1 ต้องไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น (ผู้รับบริการและผู้ให้บริการอยู่คนละประเทศ) @ Mode 2 ต้องไม่มีข้อจำกัดใดๆ ทั้งสิ้น (การรับบริการในต่างประเทศ) @ Mode 3 ต้องอนุญาตให้ผู้ให้บริการอาเซียนเข้ามาจัดตั้งธุรกิจหรือถือหุ้นในประเทศได้ โดยอนุญาตให้เข้ามาถือหุ้นอย่างน้อย 70% ในสาขาเร่งรัด (โทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ สุขภาพ และท่องเที่ยว) และให้เข้ามาถือหุ้นอย่างน้อย 51% ในสาขาบริการอื่นๆ นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนต้องยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดบริการให้เหลือไม่เกิน 1 มาตรการ (การเปิดกิจการโดยต่างชาติ) | |
http://www.manager.co.th/mgrweekly/viewnews.aspx?newsID=9540000028507
|